Skip to content

All posts by kas

ใบหุ้นเรื่องวุ่น ๆ ของนักลงทุน

ใบหุ้นคืออะไร
ใบหุ้น คือหนังสือสำคัญที่บริษัทต้องออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคน เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการถือหุ้นในบริษัท โดยแสดงข้อมูล เลขหมายหุ้น จำนวนเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้วของผู้ถือหุ้น และลายเซ็นกรรมการ 

สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นคืออะไร
สมุดที่แสดงข้อมูลหุ้นและผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยแสดงรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงรายการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหุ้นของบริษัท 

เอกสารทั้งสองถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้ถือหุ้นในบริษัทควรมี ในกรณีที่บริษัทไม่มีใบหุ้น จะทำให้ถูกเรียกค่าปรับบริษัทไม่เกิน 10,000 บาท และค่าปรับกรรมการไม่เกิน 50,000 บาท  ส่วนบริษัทที่ไม่มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น จะถูกเรียกค่าปรับบริษัทไม่เกิน 20,000 บาท และกรรมการไม่เกิน 50,000 บาท

ใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เอกสารสำคัญที่บริษัทต้องมี

ใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นเอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำขึ้น หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีผู้ประกอบการหลายบริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่ หรือแม้แต่บริษัทที่เปิดมานานแล้วก็ยังไม่ได้จัดทำ เพราะไม่ทราบว่าต้องมีการจัดทำเอกสารเหล่านี้ด้วย

ผลที่ตามมาของการมีเอกสารไม่ครบถ้วน คือ บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจถูกเรียกค่าปรับได้ ตามข้อกฎหมายดังนี้

  • มาตรา 8 บริษัทจำกัดใดไม่ทำใบหุ้นมอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้น หรือเรียกค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 1127 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่ทำใบหุ้นตามมาตรา 1128 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
  • มาตรา 10 บริษัทจำกัดใดไม่มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นตามมาตรา 1138 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • มาตรา 11 บริษัทจำกัดใดไม่รักษาสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น หรือเมื่อผู้ถือหุ้นร้องขอให้เปิดสมุดทะเบียนให้ผู้ถือหุ้นดูตามมาตรา 1139 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
  • มาตรา 25 ในกรณีที่บริษัทจำกัดใดกระทำความผิดตามมาตรา 7 ถึงมาตรา 24 กรรมการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ใบหุ้นมี 2 แบบ คือ

  1. ใบหุ้นชนิดระบุชื่อ หมายถึงใบหุ้นที่ระบุชื่อของผู้ถือหุ้น
  2. ใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ หมายถึงใบหุ้นที่ไม่ได้ระบุชื่อของผู้ถือหุ้น แต่ระบุว่าเป็นหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ ซึ่งบริษัทจะออกให้ได้เมื่อเข้าเงื่อนไขว่า
  • ได้มีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตให้ออกใบหุ้นได้
  • ออกได้เฉพาะหุ้นได้ใช้ราคา/มูลค่าเต็มเรียบร้อยแล้ว

ส่วนบริษัทมหาชนจำกัด จะต้องมีการออกใบหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นภายใน 2 เดือน โดยนับจาก

  • วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัท
  • มีการจำหน่ายหุ้นที่เหลือให้ นับตั้งแต่วันที่ได้รับการชำระค่าหุ้นครบ
  • มีการออกใบหุ้นใหม่ ภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนบริษัท

สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นคืออะไร ต้องจัดทำเมื่อไหร่

สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น คือสมุดที่แสดงข้อมูลของผู้ถือหุ้นหรือหุ้นตั้งแต่ตอนจัดตั้งบริษัท จำนวนหุ้น

เพิ่ม-ลด แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนหุ้น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น และรายการต่างๆ บริษัทจะต้องมีการจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด และจัดเก็บสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นไว้ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถขอดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นได้ รวมถึงใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ถือหุ้นในบริษัทด้วย

เมื่อทราบถึงความสำคัญแล้ว ผู้ประกอบการจึงควรมีการจัดทำใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นพร้อมปรับปรุงข้อมูลอย่างสม่ำเสมอและทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหุ้น/ผู้ถือหุ้น

ข้อมูลในใบหุ้น จะมีรายละเอียดดังนี้ครับ

  • Logo บริษัท (เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและไม่เหมือนใบหุ้นทั่วไป)
  • ชื่อบริษัท
  • เลขหมายหุ้น
  • ทุนที่จดทะเบียน
  • จำนวนมูลค่าหุ้นละ … บาท
  • ชื่อของผู้ถือหุ้น
  • จำนวนหุ้นที่ถือ
  • จำนวนเงินค่าหุ้นที่ได้ชำระแล้ว
  • วันที่ออกใบหุ้น
  • ลายเซ็นกรรมการ

ส่วนข้อมูลในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น จะมีรายละเอียดดังนี้

  • ชื่อบริษัท
  • ชื่อเอกสาร
  • เลขหน้า
  • ชื่อผู้ถือหุ้น
  • สถานที่อยู่
  • เลขที่ทะเบียนหุ้น
  • รายการหุ้น ประกอบด้วย วันที่ รายการหุ้น เลขที่ จำนวนหุ้น หมายเลขหุ้น จำนวนเงินหุ้นที่ได้ใช้แล้ว รายการโอนหุ้น เลขที่ใบโอน จำนวนคงเหลือ

หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหุ้น เช่น การโอนหุ้น ถอนหุ้นออก การเพิ่มทุน จะต้องมีการปรับปรุงข้อมูลเข้าไปที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านระบบ e-Filing และบันทึกลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกครั้ง โดนเขียนด้วยลายมือ หรือจัดพิมพ์ใหม่ก็ได้

ออกใบหุ้นใหม่และแก้ไขข้อมูลสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นใหม่ได้หรือไม่


ใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นเอกสารที่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ เมื่อบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ กรณี เช่น

มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ได้แก่ มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น มีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นเรื่องที่สามารถทำกันเองได้ภายในบริษัท ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนข้อมูลต่อหน้านายทะเบียน กรรมการสามารถดำเนินการแก้ไขรายการในสมุดทะเบียนหุ้นของบริษัทและออกใบหุ้นใหม่ โดยหากเป็นกรณีการโอนหุ้นระหว่างผู้ถือหุ้นให้ทำหนังสือตามแบบสัญญาโอนหุ้นในบริษัทจำกัดระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน จากนั้นให้บริษัทบันทึกการโอนหุ้นในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น การโอนหุ้นนั้นจึงจะถือว่าเสร็จสมบูรณ์ตามกฎหมาย

บริษัทมีการเพิ่มทุน-ลด หมายถึงบริษัทมีการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ กรรมการของบริษัทจึงต้องทำใบหุ้นใหม่ขึ้นมา โดยมีเลขหมายหุ้นใหม่ที่ลำดับต่อจากเลขหมายหุ้นสุดท้ายของหุ้นเดิมของบริษัท เพื่อนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่ และบันทึกการเปลี่ยนแปลงลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

บริษัทเวนคืนใบหุ้น หมายถึง บริษัทเรียกคืนใบหุ้นเดิมทั้งหมดจากผู้ถือหุ้น แล้วทำการออกใบหุ้นใหม่ให้กับผู้ถือหุ้น

ในแต่ละปี บริษัทจะต้องส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทางบริษัทจะต้องมีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อพิจารณางบการเงิน ฯลฯ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่กรรมการจะได้มีการ Update ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งหลังจากวันที่ 7 ก.พ.66 หากบริษัทที่มีใบหุ้นชนิดระบุชื่อ บริษัทไม่จำเป็นต้องประกาศเรียกประชุมผู้ถือหุ้นผ่านการลงหนังสือพิมพ์แล้ว โดยสามารถใช้การส่งเอกสารนัดหมายหรือทางไปรษณีย์ตอบรับเพียงช่องทางเดียวได้เลย

ใครคือคนที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่ไหน

ภาษีมูลค่าเพิ่มหมายถึงอะไร?
ทำไมถึงมี?              
แล้วต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไหน?

              ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากการซื้อสินค้าหรือบริการต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือรัฐบาลเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเราที่เป็นผู้บริโภคคนสุดท้าย ทั้งหมด 7% จากค่าใช้จ่ายรวม แล้วนำไปชำระให้แก่รัฐบาล ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้ส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคลใดๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้)

              กรณีการยื่นภาษีสามารถยื่นได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ในท้องที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หากมีหลายสาขาและได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบรวมคำนวณภาษีให้ยื่นแบบรวม ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับอนุมัติตั้งอยู่ และสามารถยื่นด้วยตนเองได้ทางอินเทอร์เน็ต www.rd.go.th ในเวลากำหนด  วิธีการยื่นภาษีด้วยตนเองผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีต่อไปนี้
1. เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ กรมสรรพากร
2. ไปที่หัวข้อ E-FILING แล้วเลือกไปที่หัวข้อ “แบบยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต”
3. คลิกเลือกไปที่เมนู “ยื่นแบบออนไลน์” จากนั้นเลือกไปที่ “ภ.พ. 30” ที่อยู่ในหัวข้อภาษีมูลค่าเพิ่ม
4. ทำการเข้าสู่ระบบผู้ใช้งานด้วยหมายเลขผู้ใช้ และรหัสผ่านที่ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากร (หากไม่มีต้องทำการลงทะเบียนกับทางระบบก่อน)
5. ระบบจะแสดงข้อมูลต่างๆ ให้คุณทำการกรอกข้อมูลทั้งหมดให้ครบถ้วน และถูกต้องตามจริง (ในกรณีที่ยื่นแบบเพิ่มเติมให้ระบุครั้งที่ยื่นลงในแบบด้วย)
6. กรอกข้อมูลรายละเอียดยอดขายในเดือนนี้ ยอดขายที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 (ถ้ามี) ยอดขายที่ได้รับยกเว้น (ถ้ามี)ยอดขายที่ต้องเสียภาษี (หากกรอกข้อมูลไม่ถูกต้องระบบจะแสดงรายการเตือนให้แก้ไข)
7. กรอกข้อมูลรายละเอียดภาษีขาย กรณีที่ภาษีขายไม่เท่ากับ 7% ระบบจะแสดงรายการเตือนให้ตรวจสอบหากยืนยันว่าข้อมูลถูกต้องตามข้อเท็จจริงให้เลือก “OK” จากนั้นกรอกข้อมูลในลำดับถัดไป
8. กรอกรายละเอียดยอดซื้อที่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหัก กรณีที่ภาษีซื้อไม่เท่ากับ 7% ระบบจะแสดงรายการเตือนให้ตรวจสอบหากยืนยันว่าข้อมูลถูกต้องตามข้อเท็จจริงให้เลือก “OK” จากนั้นกรอกข้อมูลในลำดับถัดไป (กรณีกรอกข้อมูลภาษีซื้อที่ต้องชำระ และภาษีที่ชำระเกินไม่ถูกต้องระบบจะแสดงหน้าจอเตือนให้แก้ไขค่าที่ถูกต้อง)
9. เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนถูกต้องเรียบร้อยแล้วให้เลือกไปที่คำสั่ง “คำนวณภาษี”

              การยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี(หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้)  การยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถทำได้สองช่องทาง  1.ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่กรมสรรพากรประจำเขต/อำเภอ ที่สำนักงานจัดตั้งอยู่  2. ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางอินเทอร์เน็ต www.rd.go.th ของกรมสรรพากร

             

            

5 ความเข้าใจผิดเรื่องการยื่นภาษี ที่ไม่ค่อยมีใครบอกคุณ

ปีนี้ตั้งแต่ต้นปี มีคนเข้ามาถามเยอะมากเกี่ยวกับการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา แล้วก็มีคนเข้าใจผิดเยอะมากเกี่ยวกับการยื่นภาษี ก็เลยแยกประเด็นมาได้ดังนี้

 

1.รายได้ไม่เกิน 150,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี

เรื่องนี้กฏหมายไม่ได้กำหนดว่าไม่ต้องยื่นภาษี จริง ๆ แล้วส่วนที่ไม่ต้องเสียภาษีคือ เงินได้สุทธิ 150,000 บาทตะหาก ที่ไม่ต้องเสียภาษี

แล้วเงินได้สุทธิเนี่ยคิดยังไง? ก็คิดมาจาก

รายได้ทั้งปี – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ

ขอยกตัวอย่าง คุณเป็นคนโสดและมีรายได้ทั้งปี 120,000 บาท คุณก็จะมีค่าลดหย่อนเบื้องต้น 60,000 บาท นั่นหมายความว่า เงินได้สุทธิของคุณก็จะเท่ากับ 60,000 บาท คุณก็จะอยู่ในอัตราที่ไม่ต้องเสียภาษี

 

  • ถ้าคุณไม่ต้องเสียภาษี ก็ไม่จำเป็นต้องยื่นภาษีใช่หรือไม่

คำตอบคือยังไงคุณก็ต้องยื่นภาษี ด้วยสาเหตุอยู่สองอย่างด้วยกันคือ

1.สรรพากรจะได้ทราบเงินได้แต่ละปีของคุณซึ่งสามารถนำข้อมูลของคุณไปสะท้อนรายได้ในปีต่อ ๆ ไปได้

2.รัฐบาลสามารถเอาข้อมูลของคุณไปเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศได้

  • ถ้าไม่ยื่นภาษีจะเป็นอะไรไหม

เอาจริง ๆ ถ้าคุณไม่ยื่นภาษีก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้าคุณมีรายได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แล้วสรรพากรเชิญคุณ เขาก็อาจจะแค่ปรับค่าไม่ยื่นแบบ 200 บาท ซึ่ง สรรพากรก็คงจะไม่เสียเวลามานั่งคุยกับคุณด้วยเงิน 200 แน่นอน

 

2.ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ถือว่าฉันยื่นภาษีแล้ว

หลายคนเข้าใจว่า “ฉันถูกหักภาษีไว้แล้ว ฉันยื่นภาษีแล้ว”

แท้ที่จริงแล้วการถูกหักภาษีมันคือการจ่ายภาษีไว้ล่วงหน้า

หน้าที่เราคือการเอารายได้ทั้งหมดในปีนั้น มาคำนวณภาษี แล้วเสียภาษีเท่าไหร่ค่อยเอาภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาหักออก

สมมุติว่า คำนวณภาษีแล้วต้องเสียภาษี 10,000 แล้วปีที่ผ่านมา ถูกหักภาษีไว้ 5,000 นั่นหมายความว่า เราจะต้องจ่ายเพิ่มแค่ 5,000 บาท

ใครที่เคยขอคืนภาษีแล้วได้คืนภาษีจะเข้าใจได้ทันที ว่าภาษีที่ถูกหัก เป็นภาษีที่เราได้จ่ายล่วงหน้าแล้วนั่นเอง

หลายคนเข้าใจว่าถูกหักภาษีแล้วจบ จริง ๆ แล้วคือจุดเริ่มต้นเลย เพราะว่าเมื่อไหร่ที่เราถูกหัก สรรพากรก็จะมีข้อมูลทันทีว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ แล้วเราต้องยื่นภาษีเท่าไหร่

3.มนุษย์เงินเดือนมีรายได้หลายทาง ยื่นภาษีเฉพาะเงินเดือนได้หรือไม่

ตอบแบบฟันธงได้เลยว่า ต้องเอาเงินได้ทั้งหมดมารวมคำนวณในการยื่นภาษี มีเฉพาะบางตัวที่เป็น เงินปันผล กองทุนรวม กับ ดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเอามายื่นภาษี หรือหากใครที่ถูกหักเงินได้พวกเงินปันผลหรือดอกเบี้ย เยอะ ก็สามารถนำมารวมคำนวณภาษีเพื่อขอคืนก็ได้ ถือเป็นทางเลือกของเรา

4.ยื่นภาษีต้องส่งเอกสารให้สรรพากรยังไง

ในประเทศไทย วิธีการที่เรายื่นภาษีเรียกว่าวิธีประเมินตนเอง เรากรอกแค่ตัวเลขผ่าน internet ได้เลย ถ้าหากเจ้าหน้าที่มีข้อสงสัยเขาจะขอเอกสารทีหลัง หรือประเมินเราทีหลัง เจ้าหน้าที่จะขอเอกสารก็ต่อเมื่อเราขอคืนภาษีแล้วเขาต้องการเอกสารเพิ่มเติม หรือเรายื่นภาษีไม่ถูกต้อง

อ่อ ในการเก็บหลักฐานในการยื่นภาษี ควรจะเก็บไว้ย้อนหลัง 5 ปี เพราะกฏหมายเค้าจะไม่ตรวจย้อนหลังเกิน 5 ปี นะจ๊ะ

5.ถ้าไม่สมัครพร้อมเพย์จะไม่ได้คืนภาษีใช่ไหม

ไม่ใช่ การสมัครพร้อมเพย์เพียงแค่ทำให้เราสามารถได้คืนภาษีได้ไวขึ้นเท่านั้น ซึ่งในปี 62 สำหรับคนที่ไม่ได้สมัครพร้อมเพย์นี้ได้ข่าวมาว่าสรรพากรจะไม่ได้ส่งคืนมาเป็นเช็คอีกแล้ว แต่จะส่งมาเป็นแบบ ค.10 ให้เราไปขึ้นเงินที่ ธนาคารกรุงไทย เอาเอง อ่อ ใครที่สมัครพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีกับเลขที่บัตรประชาชนเท่านั้นนะคะที่จะได้คืนไว

จริงเหรอที่นโยบายบัญชีชุดเดียวจะเกี่ยวกับการตรวจสอบของสรรพากร

จริงเหรอที่นโยบายบัญชีชุดเดียว
จะเกี่ยวกับการตรวจสอบของกรมสรรพากร?


ถ้าใครจำได้ เมื่อต้นปี 2559 มีกฎหมายออกมาอยู่ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดการยกเว้นภาษีและสนับสนุนการปฏิบัติ การเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และ พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 595) ออกมาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำบัญชีเดียว โดยมีประเด็นสำคัญ คือ

1. สนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง และสะท้อนข้อเท็จจริงของกิจการ โดยให้สิทธิประโยชน์ในการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป

2. ให้สถาบันการเงินใช้งบการเงินที่ส่งสรรพากรในการอนุมัติสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

 

ตอนนั้นจำได้ว่าก็มีคนเข้าไปจดแจ้งกันใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นอีกครั้งประวัติศาสตร์ชาติไทยเกี่ยวกับการเสียภาษีกันเลยทีเดียวค่ะ

วันเวลาผ่านไปเกือบๆ 3 ปี 2562 ใกล้เข้ามา พร้อมกับคำถามว่านโยบายนี้ส่งผลอย่างไรกับเราบ้าง?

1. การทำบัญชีชุดเดียวลดต้นทุนของกิจการได้ โดยลดในส่วนของค่าใช้จ่ายในการหลบเลี่ยงภาษี และสามารถใช้ข้อมูลนี้ในการตัดสินใจได้เลยโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาถามว่า ข้อมูลจริงๆของธุรกิจเรามันชุดไหนหว่า

2. นักบัญชีทำงานง่ายขึ้น ชีวิตของนักบัญชีทั้งหลายจะไม่ลำบาก เพราะถ้าหากทำบัญชีตรงๆ ถูกต้องตามหลักการ เสียภาษีได้ตามสมควร ข้อมูลทั้งหลายก็ไม่ต้องปรับแต่งให้เสียเวลา แถมไม่ต้องมามีปัญหากับสรรพากรอีกต่างหาก

3. ภาครัฐหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ จะมีการออกนโยบายที่สนับสนุนการทำถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น สิทธิพิเศษของคนที่ทำถูกจะได้รับอย่างต่อเนื่อง (เขาว่ากันแบบนั้นนะคะ)

4. กรมสรรพากรจะมีแนวทางการตรวจสอบโดยอ้างอิงจากหลักการนี้เป็นหลัก ซึ่งแน่ล่ะว่าถ้าหากใครทำไม่ถูกต้อง โทษก็ย่อมจะหนักตามมาด้วย ไอ้ที่เคยจดแจ้งไว้ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาชีวิตแทน เพราะกฎหมายก็แจ้งไว้แล้วว่า ถ้าจดแล้วทำผิดกรมสรรพากรก็มีสิทธิตรวจสอบย้อนหลัง

 

ทีนี้มันเกี่ยวอะไรต่อกับการตรวจสอบของกรมใช่ไหม

1. ประเด็นสำคัญที่กรมสรรพากรจะสนใจต่อไปนี้ คือ ข้อมูลงบการเงินที่นำส่ง การจัดกลุ่มผู้ประกอบการ (ดี หรือ เสี่ยง) และ การทำงานของนักบัญชี (รวมถึงผู้สอบบัญชี)

2. แต่การตรวจสอบที่ว่านี้จะไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะจะมีการผ่านระบบคัดเลือกที่เรียกว่า RBA ร่วมกับการจัดกลุ่มแบบจริงจังเพื่อจัดลำดับชั้นของคนดีและคนไม่ดี ต่อยอดไปที่การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาการจัดการตรวจสอบได้ดีขึ้น ร่วมกับการออกกฎหมายใหม่ๆที่มาช่วยให้ตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายขึ้น

3. สุดท้ายแล้วจะไปจบที่เครื่องมือในการตรวจสอบที่แยกเด่นชัด เช่น ผู้ประกอบการทีดีจะได้รับการตรวจสอบแบบแนะนำ แต่คนไม่ดีอาจจะโดนตรวจปฎิบัติการ ออกหมายเรียก หรือมีมาตรการพิเศษสำหรับคนที่ถูกจัดกลุ่มแตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น

ข้อดีของเรื่องพวกนี้ที่พูดมาคือ ระบบที่ว่าจะลดความคิดเห็นในการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ลง ทำให้เจ้าหน้าที่กรมทำงานง่ายขึ้น และใช้การตัดสินใจส่วนบุคคลน้อยลงเช่นกัน เพื่อให้ทางฝ่ายผู้เสียภาษีนั้นได้ประโยชน์มากขึ้น

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่การขายฝัน แต่เป็นการสรุปและคัคประเด็นที่รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2559 ประสบการณ์ทำงาน และการเข้าฟังสัมมนากรมสรรพการ เรื่อง ก้าวสาคัญ…ธุรกรรมการเงิน ด้วยบัญชีชุดเดียว เมื่อวันศุกร์ 21 กันยายน 2561 ที่ผ่านมาค่ะ

อ่านให้ดี แล้วคิดว่าเราจะรับมืออย่างไร
เพราะอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงนะคะ

ค่าลดหย่อนคลอดบุตร 60,000 บาทใช้อย่างไร?

สรุปวิธีค่าลดหย่อนตั้งครรภ์และคลอดบุตร
เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการวางแผนมีลูกค่า

ทางกรมสรรพากรเพิ่งออกประกาศอธิบดีมาอธิบายเพิ่มเติมเรื่องสิทธิประโยชน์การลดหย่อนค่าตั้งครรภ์และคลอดบุตร ทางเราก็เลยทำหน้าที่สรุปมาให้อ่านกันแบบสั้น ๆ จ้า

ประเด็นสำคัญที่อยากจะให้ระวังกันคือ
1. ถ้าแยกยื่นภาษี สิทธิจะเป็นของภรรยาคนเดียวนะจ๊ะ
2. ถ้าเบิกสิทธิอย่างอื่นแล้ว จะเอามาเบิกได้แค่ส่วนที่ยังไม่เกิน 60,000 บาทเท่านั้นจ้า
3. การท้อง คิดเป็นคราว ดังนั้นถ้าได้ลูกแฝดก็ได้แค่ 60,000 เท่านั้นนะจ๊ะ แต่ถ้าท้องหลายครั้งในปีเดียว ก็ลดหย่อนได้เพิ่มตามสิทธิของแต่ละครั้งไปจ้า

ใครอ่านแล้วอย่าลืมแชร์บอกคู่ของเรา
หรือคนที่อยากเอาชีวิตไปฝากเขาด้วยนะคะ

อ้างอิง :
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) http://bit.ly/2NPw8bj

สรุปครบ! รายการลดหย่อนภาษีปี 2561 พร้อมเทคนิคที่ทำให้คุณเสียภาษีน้อยที่สุด!!

คนที่ต้องการวางแผนและจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บทความนี้คือ สรุปรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 ทั้งหมด ทั้งที่ออกเป็นกฎหมายแล้ว และยังไม่ออกเป็นกฎหมายเพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมในการวางแผนภาษีประจำปีนี้ค่ะ


ก่อนอื่นขอเริ่มต้นจากตารางสรุป รายการลดหย่อนภาษีปี 2561 เป็นลำดับแรกค่ะ โดยในปีนี้จอขอแบ่งรายการค่าลดหย่อนภาษีออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ภาระติดตัวคุณกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกันชีวิตและการลงทุน บริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม บ่มอยู่จ้า (กลุ่มนี้คือรอออกเป็นกฎหมาย แต่ครม.อนุมัติแล้วค่ะ) และ ยกมาจากปีก่อน (ปีนี้ไม่มีสิทธิ เพราะหมดเขตไปแล้ว เป็นการใช้สิทธิลดหย่อนต่อเนื่องจากค่าลดหย่อนเดิม) เพื่อให้เห็นภาพชัดๆกันไป โดยสรุปออกมาเป็นรูปด้านล่างนี้ค่ะ

หลังจากที่ดูรูปกันไปแล้ว ถ้ายังไม่จุใจ อยากรู้ว่า รายการลดหย่อนปี 2561 นั้น มีเงื่อนไขและรายละเอียดยังไงบ้าง ก็ขออนุญาตอธิบายถึงความหมายของค่าลดหย่อนเป็นอันดับแรกก่อนค่ะ

ความหมายของ “ค่าลดหย่อน” หรือ “ค่าลดหย่อนภาษี” มันคือ “รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาดังนี้ค่ะ

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

ตรงนี้หลายคนมักจะสับสนความหมายของค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนค่ะ ขอเน้นอีกทีนะคะว่า ค่าใช้จ่ายนั้นกฎหมายจะกำหนดมาให้หักตามประเภทของเงินได้ค่ะ นั่นคือเราต้องรู้ว่าเรามีรายได้ประเภทไหน และรายได้ประเภทนั้นหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไรค ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายนั้นจะมีทั้งหักได้แบบเหมาตามที่กฎหมายกำหนดและตามที่จ่ายจริงค่ะ

ตรงนี้คือรายได้ 8 ประเภท (หรือเงินได้พึงประเมินตามที่กฎหมายเรียกกัน) โดยขอแยกออกมาเป็นแต่ละประเภทและแบ่งกลุ่มตามวิธีการได้มาของรายได้ค่ะ ซึ่งแต่ละประเภทก็จะหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันไปอย่างที่ว่ามานั่นแหละค่ะ (ขออนุญาตไม่อธิบายลงลึกในเรื่องนี้นะคะ แต่จะเขียนบทความอธิบายละเอียดอีกทีหนึ่งค่ะ)

 

จากตารางอัตราภาษีที่ว่านี้ เงินได้สุทธิ 500,000 บาทคำนวณออกมาจะทำให้เสียภาษีอยู่ที่ 27,500 บาทครับ ซึ่งถ้าหากเราอยากเสียภาษีน้อยกว่านี้ สิ่งที่เราต้องทำคือการหาค่าลดหย่อนที่จะมาช่วยลดเงินได้สุทธิ 500,000 บาทลงไปให้มากที่สุดนั่นเอง

นั่นแปลว่า การมีค่าลดหย่อนภาษีที่มากขึ้นจะทำให้เสียภาษีน้อยลง เพราะมันทำให้เงินได้สุทธิน้อยลงนั่นเองค่ะ แต่ไม่ได้แปลว่าการลดหย่อนภาษีจะประหยัดภาษีได้เต็มจำนวนที่เราจ่ายไปนะ อย่างเช่นกรณีตัวอย่างนี้ ถ้าหากวางแผนซื้อ LTF เพิ่มอีก 10,000 บาทก็จะทำให้เสียภาษีลดลงไปจำนวน 1,000 บาท เพราะฐานภาษีมันอยู่ที่ 10% นั่นคือทุกๆ เงินค่าลดหย่อนที่จ่ายออกไป จะทำให้ประหยัดภาษีได้ 10% เท่านั้นค่ะ

เอาล่ะ ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 แต่ละกลุ่มกันเลยดีกว่าค่ะ ว่าแต่ละตัวมีเงื่อนไขอะไรยังไงบ้างเริ่มจากกลุ่มแรกคือ กลุ่มรายการค่าลดหย่อนภาระติดตัวคุณ

ค่าลดหย่อนกลุ่มภาระติดตัวคุณ

1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนสำหรับคนมีเงินได้ทุกคนที่ยื่นแบบแสดงรายการ แค่เพียงเรายื่นแบบแสดงรายการก็สามารถใช้สิทธิค่าลดหย่อนนี้ได้เลยค่ะ

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรสจำนวน 60,000 บาท เป็นค่าลดหย่อนของคู่สมรส (ตามกฎหมาย) กรณีที่คู่สมรส (สามีหรือภรรยา) ที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีเงินได้ หรือมีเงินได้และเลือกยื่นแบบแสดงรายการรวมกันในการคำนวณภาษี เราจะได้สิทธิค่าลดหย่อนส่วนเพิ่มเติมจากส่วนนี้ทันที

3. ค่าลดหย่อนบุตรจำนวน 30,000 บาท โดยคำว่า “บุตร” หมายถึง บุตรโดยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรม สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ คนละ 30,000 บาท ซึ่งในกรณีที่เป็นบุตรโดยกฎหมายสามารถหักได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ในกรณีที่เป็นบุตรบุญธรรม หรือ มีทั้งบุตรบุญธรรมและบุตรชอบด้วยกฎหมายจะหักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน (นับเฉพาะที่มีชีวิตอยู่) โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี
  • ถ้าอายุอยู่ในระหว่าง 21-25 ปี ต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ขึ้นไป
  • บุตรต้องมีเงินได้ในปีไม่เกิน 30,000 บาท (ยกเว้นกรณีเงินปันผล)

4. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตรตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • ต้องจ่ายเป็น “ค่าฝากครรภ์” และ “ค่าคลอดบุตร”
  • จำนวนเงินสูงสุดต่อครรภ์ คือ 60,000 บาท
  • ถ้าจ่ายสำหรับการคลอดบุตรคนเดิม แต่จ่ายมากกว่า 1 ปี (ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า) ให้ลดหย่อนตามปีที่ใช้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท
  • ใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

5. ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่เราและพ่อแม่คู่สมรส คนละ 30,000 บาท ถ้าหากเราหรือคู่สมรสมีคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท เราก็จะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูได้คนละ 30,000 บาท นั่นหมายความว่าถ้าเราเลี้ยงดูถึง 4 คนก็จะได้รับสิทธิสูงสุดถึง 120,000 บาท

แต่มีเงื่อนไขนิดนึงในกรณีของพ่อแม่ของคู่สมรสที่จะนำมาลดหย่อนนั้น เราจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ใน กรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้นนะ

สำหรับเรื่องเอกสารหลักฐานนั้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องลงลายมือชื่อในหนังสือรับรอง (แบบ ลย.03) ว่าลูกคนไหนเป็นคนเลี้ยงดู และสิทธิในการเลี้ยงดูนั้นจะสามารถใช้สิทธิได้เพียงครั้งเดียว เช่น พี่น้องสองคน คนโตใช้สิทธิลดหย่อนเลี้ยงดูพ่อ คนเล็กก็ไม่สามารถใช้สิทธิเลี้ยงดูพ่อแล้วค่ะ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เฉพาะแม่ หรือถ้าคนโตใช้สิทธิทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกคนเล็กก็ไม่มีสิทธิแล้วค่ะ

6. ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือคนทุพพลภาพ จำนวน 60,000 บาท ถ้าหากเราเป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพที่มีใบรับรองแพทย์ เราสามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่นำมาลดหย่อนนั้นต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปีด้วยนะคะ

และในกรณีที่คนพิการหรือคนทุพพลภาพเป็น พ่อแม่ – บุตร – คู่สมรส ของเรา เราสามารถใช้สิทธิได้ทั้งสองส่วนค่ะ เช่น คู่สมรสไม่มีรายได้และพิการ ก็จะสามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 120,000 บาท (มาจาก 60,000 + 60,000 บาท)

ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 กลุ่มต่อมา คือ กระตุ้นเศรษฐกิจ ในกลุ่มนี้จะเป็นค่าลดหย่อนที่ให้เพิ่มสำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจบางอย่างหรือเป็นมาตรการของรัฐที่อยากกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มนี้มีรายการค่าลดหย่อนดังต่อไปนี้

1. ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ที่เราจ่ายไปเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดเพื่ออยู่อาศัย โดยสามารถหักได้ตามที่จ่ายไปจริง และในกรณีที่เป็นการกู้ร่วมกันหลายคน ให้แบ่งดอกเบี้ยคนละเท่าๆกัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ยกตัวอย่างเช่น หากมีการกู้ร่วมกัน 2 คน จะถือว่าดอกเบี้ยที่สามารถใช้สิทธิได้คือ 100,000 และแต่ละคนจะใช้สิทธิหักลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท

อย่าลืมนะคะว่า!! การใช้สิทธิสำหรับกรณีนี้จะบ้านกี่หลังก็ได้ แต่สูงสุดรวมกันแล้วจำนวนเงินต้องไม่เกิน 100,000 บาท สรุปง่ายๆว่า มองภาพรวมต่อบ้าน แล้วค่อยหารต่อคนค่ะ นั่นคือ บ้าน 1 หลังใช้สิทธิ์ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตัวนี้ได้ไม่เกิน 100,000 บาท และคน 1 คนก็ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นเดียวกัน

2. ค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้เพิ่มสำหรับกรณีคนทำธุรกิจที่มีการจ่ายค่าธรรมเนียมในการรับชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ตั้งแต่ช่วง 1 พ.ย. 2559 – 31 ธ.ค. 2564 ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประเภทที่ 5-8 (ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และ ธุรกิจอื่นๆ) จำนวนไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์นี้ไปครับ

3. ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวไทย (55 จังหวัดเมืองรอง) ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาทสำหรับค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ซึ่งลดได้เฉพาะส่วนที่เป็นค่าทัวร์ ค่าที่พัก เหมือนเดิมกับกฎหมายเก่า เพิ่มเติมขึ้นมาอยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ สามารถใช้จ่ายเป็นค่าที่พักกับโฮมสเตย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยวด้วย กับเงื่อนไขคือไม่ครบทั่วไทย ได้แค่กลุ่มเมืองรอง 55 จังหวัดเท่านั้นจ้า

สำหรับคนที่สงสัยว่า 55 จังหวัดเมืองรองคืออะไรบ้าง อ่านกันให้ดีนะคะ นครศรีธรรมราช อุดรธานี เชียงราย ลพบุรี พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นครนายก หนองคาย สระแก้ว เลย ตาก ตราด เพชรบูรณ์ จันทบุรี มุกดาหาร นครสวรรค์ ราชบุรี สมุทรสงคราม บุรัมย์ ชัยภูมิ พัทลุง ตรัง ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี สตูล ชุมพร สุโขทัย สุรินทร์ สกลนคร ลำพูน นครพนม อุตรดิตถ์ ระนอง ลำปาง ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ ชัยน่าน น่าน อ่างทอง มหาสารคาม กำแพงเพชร อุทัยธานี นราธิวาส ยะลา พะเยา บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และปัตตานี

4. เงินลงทุนในธุรกิจ Startup 100,000 บาท สำหรับตัวนี้เป็นการสนับสนุนเพ่ิมเติมสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพที่กำลังฮอตฮิตครับ ซึ่งคำว่า ธุรกิจ Startup ที่ว่านี้ หมายถึง 

  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้ง 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่เราลงทุนในธุรกิจนั้น
  2. ประกอบธุรกิจอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช. และผ่านการรับรองจากทาง สวทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีรายได้จากการประกอบกิจการในส่วนนี้รวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด

โดยสิทธิลดหย่อนภาษีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 – 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งถ้าในปีไหนที่เรามีการลงทุนก็สามารถใช้สิทธิในปีนั้นๆได้ค่ะ

ค่าลดหย่อนกลุ่มประกันชีวิตและการลงทุน

สำหรับตอนนี้กลุ่มค่าลดหย่อนที่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังมีเพียงเท่านี้ ส่วนรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 กลุ่มต่อมาจะเป็นเรื่องของ ประกันชีวิตและการลงทุน ค่ะ โดยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ลดหย่อนภาษีแล้วได้ประโยชน์ 2 ส่วน คือ ส่วนของการออมเงิน หรือ ลงทุน เพื่อสร้างวินัยและผลตอบแทนในการลงทุนให้กับเราส่วนหนึ่ง และใช้สิทธิประโยชน์ในการวางแผนภาษีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งการเลือกออมหรือลงทุนในตัวไหนก็ตาม ขอแนะนำให้ดูวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอันดับแรกก่อน แล้วค่อยคำนึงถึงเรื่องสิทธิประโยชน์การวางแผนภาษีนะคะ และในกลุ่มนี้จะมีรายการค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้องตามนี้ครับ

1. เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป หรือ เงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท ในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้ การหักค่าเบี้ยประกันจะหักได้สูงสุด 10,000 บาท แต่ถ้าหากคู่สมรสมีรายได้จะหักสูงสุดได้ถึง 100,000 บาทครับ

เรื่องของเงื่อนไขนั้น จะมีเรื่องของระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ฯลฯ ตรงนี้ผมไม่อยากให้จำตามกฎหมายมากนักครับ แต่อยากจะให้เน้นความสำคัญตรงที่ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันที่ระบุไว้ว่าเป็นค่าประกันชีวิตเท่าไรครับ

สำหรับใครที่สงสัยว่าประกันชีวิตของตัวเองเป็นแบบไหนกันแน่ ผมแนะนำให้สอบถามจากตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) ได้เลย หรือจะดูจากใบเสร็จรับเงินค่าประกันที่เราจ่ายไปก็ได้ครับว่าเรามี “เบี้ยประกันชีวิต” ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จำนวนเท่าไหร่

2. เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปหรือเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท โดยเบี้ยประกันสุขภาพนั้นหมายถึงกลุ่มต่อไปนี้

  • ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล เนื่องจากการเจ็บป่วยและบาดเจ็บ ชดเชยทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนืองจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
  • ประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
  • การประกันภัยโรคที่ร้ายแรง (Critical Illnesses)
  • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)

3. เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 15,000 บาท ตรงนี้เน้นว่า ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นนะคะ โดยความหมายของประกันสุขภาพนั้นใช้หลักการเดียวกันกับประกันสุขภาพของเรานะ

โดยเบี้ยประกันสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่นั้น เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หากเรามีการซื้อประกันสุขภาพให้ท่าน สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้สูงสุดถึง 15,000 บาท และค่าเบี้ยประกันสุขภาพนี้สามารถหารแบ่งกันสำหรับลูกหลายๆคนได้ด้วย

4. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกินจำนวน 200,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขประกันชีวิตแบบบำนาญนั้นจะมีเรื่องของ ระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการ จ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เมื่อเรามีอายุตั้งแต่ 55-85 ปี หรือมากกว่านั้น ่รวมถึงต้องจ่ายเบี้ยประกันครบก่อนได้รับผลประโยชน์อีกด้วย

แต่ถ้าเอาง่ายๆก็สอบถามตัวแทนประกันชีวิต (ที่ไว้ใจได้) นั่นแหละ ง่ายที่สุดและข้อมูลชัดเจนที่สุด จะได้ไม่ต้องมีปัญหาในการจัดการภาษีนะคะ

5. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนรวมอีกประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว โดยเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นหลัก ลดหย่อนภาษีได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุนรวม LTF นั้นมีเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฎิทินด้วยครับ สำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ลงทุนไว้ในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไว้ใช้ในการวางแผนเกษียณของเรา นำมาลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF มีเงื่อนไขเพิ่มเติมตามนี้ค่ะ

  • ต้องซื้อติดต่อกันทุกปี (แต่ถ้าผิดเงื่อนไขสามารถผิดได้ 1 ปี)
  • ต้องซื้อเป็นจำนวนขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี หรือ 5,000 บาท
  • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี จึงจะสามารถขายได้

7. กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ / กบข. /กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งเราสามารถสะสมเพิ่มได้โดยขอเปลี่ยน % ที่กำหนดกับนายจ้างไว้ค่ะ

8. เงินประกันสังคม สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท

9. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวน 13,200 บาท อันนี้เป็นกองทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาครัฐกำหนดให้เพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้กับคนที่ยังไม่ได้มีการวางแผนจัดการเรื่องนี้ ให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ในการคำนวณภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทค่ะ

อ่านตรงนี้ด้วยนะครับ เพราะสำคัญมาก สำหรับกลุ่มค่าลดหย่อน ประกันชีวิตและการลงทุน จะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับค่าลดหย่อนภาษีที่เป็นการวางแผนเกษียณครับ คือ ยอดรวมของ RMF + กบข./กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ + ประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทด้วยนะคะ

ค่าลดหย่อนกลุ่มบริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม

ผ่านเรื่องของการออมไปแล้ว ก็มาอยู่กันกับค่าลดหย่อนอีกกลุ่มหนึ่ง นั่นคือ บริจาคให้เงินหมุนสู่สังคม ซึ่งเป็นเรื่องของการให้ค่ะ เรื่องนี้เป็นอีกมุมหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ที่มีจิตเป็นกุศล อยากจะส่งผ่านสิ่งที่เรามีไปให้คนอื่น และการที่เราเป็นคนดีแบบนี้ ภาครัฐเลยให้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมค่ะ

โดยรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 สำหรับกลุ่มนี้นั้น จะมีวิธีคำนวณแตกต่างออกไป เพราะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่นำมาหักหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆแล้ว โดยจะได้สิทธิหักได้สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตัวอื่นๆทั้งหมดแล้วนั่นเอง หรือพูดง่ายกว่านั้นคือเก็บไว้หักตัวสุดท้ายนั่นเองจ้า

ดังนั้นจากที่เราเคยคำนวณภาษีแบบนี้

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

จะกลายเป็น

[(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] x อัตราภาษี

โดยในปี 2561 นี้ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการบริจาคจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า กับ 1 เท่า ครับ โดยมีรายละเอียดตามนี้ครับ

1. กลุ่ม เท่า คือ เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และช่วยเหลือสังคม สามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่ได้จ่ายไปจริง แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ อย่างที่ว่าไว้นั่นแหละ

สำหรับกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง สามารถตรวจสอบได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากร ตามลิงค์นี้เลย http://www.rd.go.th/publish/28654.0.html (สำหรับการศึกษา) และ http://download.rd.go.th/fileadmin/download/sportsociety_241256.pdf (สำหรับการกีฬา)

2. กลุ่ม 2 เท่า (พิเศษ) ที่เพิ่มขึ้นมาในปี 2561 นี้ คือ เงินบริจาคให้ “สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง” ซึ่งหมายถึง สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านเทคโนโลยี และวิทยาการที่มีคุณภาพและทันสมัยจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูง จากต่างประเทศหรือ “คพอต” นั่นเอง

หรือพูดง่ายๆก็คือ  เงินบริจาคที่ลดหย่อนภาษีได้ จะต้องให้กับสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ EEC และได้รับอนุมัติจาก คพอต ว่าเป็นสถาบันการศึกษาคุณภาพสูงนั่นเองจ้า ยังไงเช็คให้ดีก่อนนะคะ เพราะว่ากลุ่มนี้กับข้อ 1 น่าจะเป็นกลุ่มลดหย่อนเดียวกัน

3. กลุ่ม เท่า คือ เงินบริจาคทั่วไป สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนและเงินบริจาคในกลุ่มที่เป็น 2 เท่าแล้ว

โดยคำว่าเงินบริจาคทั่วไป จะเป็นเงินที่เราบริจาคให้แก่วัดวาอาราม สภากาชาดไทย สถานพยาบาล สถานศึกษา ต่างๆ รวมถึงมูลนิธิที่เป็นองค์กรสาธารณกุศล ซึ่งตรงนี้บอกเลยค่ะว่าสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่เวปไซด์กรมสรรพากรเช่นเดียวกัน ที่ลิงค์นี้เลยจ้า http://www.rd.go.th/publish/29157.0.html

และสำหรับปี 2561 นี้มีการเพิ่มค่าลดหย่อนน้ำท่วมขึ้นมาด้วยนะครับ เนื่องจากช่วงนี้มีข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ แต่ถ้าเรามีการบริจาคให้กับหน่วยงานที่เป็นตัวกลางอย่างภาครัฐ หรือ เอกชนที่ขึ้นทะเบียนกับภาครัฐ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นะคะ แต่ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้นนะจ๊ะ อย่าลืมล่ะ

ค่าลดหย่อนกลุ่มบ่มอยู่จ้า

สำหรับข้อมูลทั้งหมดที่ว่ามาก่อนหน้านี้ เรียกได้ว่าเป็น รายการลดหย่อนภาษีปี 2561 แบบสมบูรณ์แล้วครับ เพราะมีกฎหมายออกมาครบเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าหากจะว่าไปแล้ว ยังมีรายการค่าลดหย่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทางภาครัฐประกาศออกมาว่ากำลังจะมา เพราะครม.อนุมัติแล้วแต่อยู่ในระหว่างร่างกฎหมายต่างๆ ซึ่งเรียกค่าลดหย่อนกลุ่มนี้ว่า บ่มอยู่จ้า โดยประกอบด้วยรายการค่าลดหย่อนต่อไปนี้ครับ

1. ค่าลดหย่อนลูกคนที่ 2 เพิ่มอีก 30,000 บาทต่อคนรวมเป็น 60,000 บาท โดยร่างกฎหมายนี้บอกว่าตั้งแต่ลูกคนที่ 2 เป็นต้นจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มขึ้นคนละ 30,000 บาท ซึ่งถ้าใครที่มีลูกคนที่สองเป็นต้นไปตั้งแต่ต้นปี 2561 ก็จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เลยครับผม ใครปั้มไหวก็รับไปเน้นๆ เลยจ้า

ลองคิดดูเล่นๆว่า ถ้ามีลูกคนแรกปีนี้ จะได้ค่าลดหย่อน 30,000 บาท และ ค่าคลอด 60,000 บาท รวมเป็น 90,000 บาท แต่ถ้าหากมีลูกคนที่สองปีนี้ จะได้ค่าลดหย่อน 30,000 + 60,000 + 60,000 = 150,000 บาทกันเลยทีเดียวนะจ๊ะจะบอกให้

2. ค่าลดหย่อนบริจาคโรงพยาบาล (เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า) ของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยเป็นมาตรการที่กระตุ้นให้คนบริจาคให้กับสถานพยาบาลต่างๆ ที่ดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย และสถานพยาบาลอื่นที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อรวมกับการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้ว ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ ค่ะ

โดยสำหรับค่าลดหย่อนภาษีกลุ่ม บ่มอยู่จ้า นี้ จะเป็นตัวที่เราต้องรอต่อไปว่าจะมีออกมาเป็นกฎหมายเมื่อไร จะได้เรียกเขาได้เต็มปากเสียทีว่าเป็นรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 เหมือนอย่างคนอื่นเขา

ค่าลดหย่อนกลุ่มยกมาจากปีก่อน

ทีนี้ก็มาถึงกลุ่มสุดท้ายซึ่งเป็นค่าลดหย่อนที่ ยกมาจากปีก่อน ซึ่งเหลืออยู่กลุ่มเดียวแล้วล่ะครับ นั่นคือ ค่าลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สูงสุด 120,000 บาท (เน้นว่า…ค่าลดหย่อนตัวนี้เป็นสิทธิต่อเนื่องจากการซื้อบ้านหลังแรกภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้นนะคะ) ให้สิทธิสำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท ให้สิทธิพิเศษสามารถนำเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไปลดภาษีได้โดยมีเงื่อนไขดังนี้ค่ะ

  • ต้องเป็นบ้านหลังแรกที่ มูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท และต้องซื้อภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559
  • ใช้สิทธิตั้งแต่ปีภาษี 2558 – 2559 เป็นต้นไป ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี
  • ห้ามโอนหรือขายต่อภายในเวลา 5 ปี และต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในบ้านหลังนั้นด้วย

เทคนิคการวางแผนภาษีให้ประหยัดสูงสุด
โดยใช้ค่าลดหย่อนเป็นตัวช่วย

สำหรับในปี 2561 นี้การวางแผนภาษีของผมที่บอกว่าจะทำให้เสียภาษีน้อยที่สุดนั้น ผมขอแนะนำหลักการง่ายๆสั้นๆ 3 ข้อนี้ครับ คือ

1.  ประมาณการรายได้ทั้งปีว่ามีเท่าไรและเป็นรายได้กลุ่มไหนตามกฎหมาย สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนเลยคือรายได้ทั้งปีนี้ของเราประมาณเท่าไร ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเป็นมนุษย์เงินเดือนจะได้เปรียบมากๆครับ เพราะว่ารู้เลยว่ามีเท่าไร ซึ่งหลังจากที่รู้แล้วก็ต้องมาดูต่อว่า แล้วรายได้ของเรานั้นเป็นประเภทไหนตามกฎหมาย เพื่อที่จะได้คำนวณการหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของรายได้ และคำนวณภาษีออกมาได้อย่างถูกต้องค่ะ

2. กระแสเงินสดที่เหลือจริงมีเท่าไร สิ่งต่อมาที่ต้องดูคือ กระแสเงินสดคงเหลือจากการใช้จ่ายจริง สิ่งที่เรารู้จากข้อแรกคือ รายได้แบบประมาณการ และจำนวนภาษีคร่าวๆ ที่ต้องเสีย ทีนี้เราต้องมาประมาณต่อครับว่า แล้วทั้งปีเรามีค่าใช้จ่ายจริงอะไรบ้าง และค่าลดหย่อนอะไรที่ต้องจ่ายต่อจากปีก่อนบ้าง เช่น ประกันชีวิต RMF ดอกเบี้ยบ้าน เพื่อให้รู้ว่าจำนวนเงินที่คงเหลือเป็นกระแสเงินสดที่เรามีนั้นเป็นเท่าไร แล้วค่อยมาวางแผนภาษีในขั้นตอนสุดท้าย

จะเห็นว่าทั้งสองข้อนั้นมาจากการทำประมาณการกระแสเงินสดจากงบรายรับรายจ่ายล่วงหน้าค่ะ เพื่อหาจำนวนคร่าวๆที่เราจะต้องใช้ในการวางแผนภาษี แล้วค่อยมาดูต่อในข้อสุดท้ายว่า…

3. เราต้องการอะไรมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมบ้าง และวัตถุประสงค์คืออะไร การลดหย่อนภาษีให้ดูอยู่ 2 เรื่อง คือ มีเงินพอ และ เราก็ต้องการ เพื่อให้เราสามารถซื้อได้ต่อเนื่องสำหรับค่าลดหย่อนภาษีบางประเภท เช่น RMF ประกันชีวิตต่างๆ ประกันสุขภาพ เงินส่วนนี้ต้องจัดสรรให้ดีก่อน เพราะว่าถ้าหากมีการทำผิดพลาดเงื่อนไขไปก็จะสร้างปัญหาใหญ่ให้กับเราได้ค่ะ ดังนั้นตรงนี้ต้องตอบตามเป้าหมายการเงินและวัตถุประสงค์ของชีวิตเราให้ดี เพื่อที่เราจะได้เตรียมตัวและพร้อมจะจัดการวางแผนภาษีต่อไปค่ะ

สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าถ้ายึดตามหลักการของรายการลดหย่อนภาษีปี 2561 ที่อธิบายไว้ทั้งหมดนี้ แล้ววางแผนภาษีดีๆ หลายคนจะพบกับหนทางที่ช่วยสร้างอิสรภาพทางการเงินไปพร้อมๆกับการวางแผนภาษีอย่างแน่นอนค่ะ…

10 ประเภทภาษีของธุรกิจที่คุณต้องเสีย

มารู้จักกับ 10 ประเภทภาษีนี้กันดีกว่า

 

หลักการทำความรู้จักภาษีแบบง่ายๆ
ที่พรี่หนอมอยากจะแนะนำ คือ

1. ภาษีนั้น คืออะไร เก็บแบบไหน? จากใคร?
2. ภาษีนั้น มีวิธีคำนวณยังไง?
3. ภาษีนั้น มีอัตราภาษีเท่าไรบ้าง?
4. ภาษีนั้น เสียที่ไหน? จะได้ไปถามถูกคน

 

ประเภทของภาษีธุรกิจที่ควรรู้จัก

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้(เงินได้)ของบุคคลธรรมดาที่เกิดขึ้นระหว่างปี
วิธีคำนวณภาษี = เงินได้สุทธิที่ได้รับระหว่างปี x อัตราภาษี
อัตราภาษี 5-35%
ชำระที่ กรมสรรพากร


2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้(เงินได้)ของนิติบุคคลที่เกิดขึ้นระหว่างปี
วิธีคำนวณภาษี = กำไรสุทธิ x อัตราภาษี
อัตราภาษี 20% หรือต่ำกว่ากรณีที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก
ชำระที่ กรมสรรพากร

3. ภาษีมุลค่าเพิ่ม

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการบริโภคสินค้าและบริการในประเทศ เช่น การซื้อสินค้า
วิธีคำนวณภาษี = ราคาสินค้าหรือบริการ x อัตราภาษี
อัตราภาษี 7%
ชำระที่ กรมสรรพากร

4. ภาษีธุรกิจเฉพาะ

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่าง เช่น ธนาคาร โรงรับจำนำ ฯลฯ
วิธีคำนวณภาษี = รายได้ที่ได้รับ x อัตราภาษี
อัตราภาษี ยกเว้น – 3% (มีภาษีบำรุงท้องที่อีก 10 %)
ชำระที่ กรมสรรพากร


5. อากรแสตมป์

คือ จัดเก็บจากการกระทำตราสาร (สัญญา) มีทั้งหมด 28 ลักษณะ
วิธีคำนวณภาษีและอัตราภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทของตราสาร (สัญญา)
ชำระที่ กรมสรรพากร

 

6. ภาษีศุลกากร

คือ เป็นกำแพงภาษีประเภทหนึ่ง
วิธีคำนวณภาษีและอัตราภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าที่นำเข้า
ชำระที่ กรมศุลกากร

7. ภาษีสรรพสามิต

คือ ภาษีการขายเฉพาะที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท ซึ่งรัฐมองว่าควรจ่ายมากกว่าปกติ
วิธีคำนวณภาษีและอัตราภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าที่นำเข้า
ชำระที่ กรมสรรพสามิต

 

8. ภาษีโรงเรือน

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ ติดกับที่ดิน ที่มีไว้เพื่อสร้างรายได้จากที่ดินนั้น เช่น ให้เช่า
วิธีคำนวณภาษี = ค่ารายปีของสินทรัพย์ x อัตราภาษี
อัตราภาษี 12.5%
ชำระที่ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น

 

9. ภาษีบำรุงท้องที่

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย ทำการเกษตร และที่ดินว่างเปล่า
วิธีคำนวณภาษี = ราคาประเมิณที่ดิน
อัตราภาษี ขึ้นอยู่กับประเภทของที่ดิน
ชำระที่ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น

10. ภาษีป้าย

คือ ภาษีที่จัดเก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อหรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร
วิธีคำนวณภาษี = เนื้อที่ของป้ายและประเภทของป้ายรวมกัน
อัตราภาษี 3-40 บาท/ตร.ซม.
ชำระที่ หน่วนงานส่วนท้องถิ่น

ทำไมคนดังชอบเลี่ยงภาษี? หรือเพราะว่าเป็นคนรวยเลยทำได้?

ออกตัวก่อนนะคะว่า บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล โต้แย้งได้ ไม่เห็นด้วยได้ แต่อยากให้อ่านกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจ้า

กรณีดาราดัง “ฟ่านปิงปิง” ถูกทางการจีนจับกุม ข้อหาพัวพันการเลี่ยงภาษี ซึ่งเธอเป็นนักแสดงค่าตัวแพงที่สุดของจีน 4 ปีติดต่อกัน โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า สัญญาหยินหยาง แยกสัญญาออกเป็น 2 ฉบับ (หรือมากกว่า) แต่ส่งเพียงแค่ฉบับที่มีรายได้ต่ำให้กับทางการ เพื่อไม่ให้ละเมิดข้อให้ทางการมีราคาต่ำ เพื่อให้เสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง

สาเหตุนี้อาจจะมาจากการที่ทางการจีนได้ออกกฎให้บรรดาผู้สร้างซีรีส์สามารถจ่ายเงินให้กับนักแสดงได้ไม่เกิน 40% ของทุนสร้างเท่านั้น และ 70% ในกรณีของการสร้างหนัง จึงทำให้มีช่องทางเลี่ยงภาษีแบบนี้

ซึ่งเรื่องนี้เราก็ต้องติดตามกันต่อว่ามันจริงหรือไม่ และสุดท้ายแล้วชีวิตของฟ่านปิงปิงจะเป็นอย่างไรต่อไป..

อ่านเพิมเติมได้ที่
https://www.posttoday.com/world/563609
https://marriedbiography.com/yin-yang-contracts-chinese-ag…/
https://mgronline.com/entertainment/detail/9610000090466

ถ้าวิธีการนี้อยู่ในบ้านเรา อาจถูกเรียกว่า “กระจายรายได้” แทน โดยหาคนอื่นที่มารับเงินแทนผู้มีรายได้ เพื่อให้สามารถกระจายฐานภาษีได้มากขึ้น เสียภาษีน้อยลง โดยแบ่งย่อยเงินไปตามจำนวนคนแทน

สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครเคยเตือนไว้ นั่นคือ การกระจายรายได้แบบนี้คือการทำผิดกฎหมาย และถ้าถูกจับได้ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน

จริงๆแล้ว สิ่งที่น่ากลัวกว่าการไม่รู้ภาษี คือ การไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดกฎหมาย และคิดว่าวิธีการที่ใช้นั้นมันถูกต้อง

กลับมาที่ประเด็นที่ตั้งไว้ ทำไมคนดังถึงชอบเลี่ยงภาษี หรือเราถึงเห็นคนรวยส่วนใหญ่มักจะมีข่าวเลี่ยงภาษีอยู่บ่อยๆ

แต่จริงๆแล้ว คำตอบของคนทุกคนอาจจะเป็นคำตอบเดียวกัน นั่นคือ เราไม่อยากเสียภาษี แต่ในกรณีของคนรวยนั้นมี “โอกาส” ที่ใช้ช่องทางต่างๆในการเลี่ยงภาษีมากกว่า ด้วย “อำนาจ” ต่อรองที่มีมากกว่า หรือแม้แต่วิธีการที่ไม่ผิดกฎหมายจากการได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย

สิ่งทีต้องระวังสำหรับกรณีนี้คือ เมื่อไรที่ถูกจับได้ เมื่อนั้นชีวิตเราก็ไม่ได้ไปต่อ เพราะการเป็นคนดังและคนรวยนั้น ต่อให้มีโอกาส อำนาจ และวิธีการให้เลือกใช้มากกว่า แต่เมื่อไรก็ตามที่มันย้อนกลับมา การทำลายล้างของมันย่อมรุนแรงกว่าหลายเท่า

บางทีแล้ว การที่เราไม่เห็นคนที่มีรายได้น้อยเลี่ยงภาษี ไม่มีข่าวเรื่องการโกงภาษี อาจจะไม่ได้แปลว่าเขาไม่โกง เพียงแต่เขาขาดโอกาส อำนาจและวิธีการตามที่ว่ามาหรือเปล่า?

คำตอบคือไม่รู้ แต่สิ่งที่รู้คือ เราไม่ควรเอาฐานะที่มีมาตีตราว่าสิ่งที่เห็นจะกลายเป็นความดีหรือความเลว เพราะมันอาจจะไม่ยุติธรรมสักเท่าไร

สุดท้ายแล้วต่อให้ไม่มีใครรู้ว่าเราทำผิดหรือถูกต้อง
แต่เรานั่นแหละที่รู้อยู่แก่ใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่