สวัสดีค่ะ กับคำถามที่ใครหลายคนถามมาบ่อยๆ ว่า ถ้าอยากจะลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้านต้องทำอย่างไรบ้าง วันนี้เลยถือโอกาสมาอธิบายแบบง่ายๆ แต่ยึดตามหลักของกฎหมายให้ฟังกันนะคะ

ประเด็นแรกสำหรับคนที่อยากลดหย่อนภาษีส่วนนี้ คือ เราต้องมี บ้าน นั่นเองครับ (เอ่อ.. อันนี้ไม่ได้กวนนะครับ) โดยคำว่า ‘บ้าน’ ที่ว่านี้รวมถึงที่อยู่อาศัยต่างๆ ไม่ว่าจะ คอนโดหรืออาคารชุด ก็สามารถใช้สิทธิประโยชน์นี้ได้เหมือนกันครับ แต่หลักการคือ มันต้องเป็นที่อยู่อาศัยของเราจ้า

ทีนี้การที่เราจะเอาดอกเบี้ยมาใช้ลดหย่อน มันต้องมีการกู้ด้วยใช่ไหมล่ะครับ โดยการกู้ที่ว่านี้ต้องเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย (บนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง) โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันในระยะเวลาที่เท่ากับการกู้ยืมไว้ด้วยจ้า

ตามด้วยองค์ประกอบสุดท้าย นั่นคือ ผู้ให้กู้ ซึ่งสำหรับการกู้โดยปกติทั่วไปนั้น จะหมายถึง ธนาคาร  บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้าง ซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมาย ว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

หมายเหตุ : (จริงๆยังมีพวกกองทุนรวมต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นะครับ แต่ขอข้ามไปก่อนละกัน เพราะคนธรรมดาอย่างเราๆ ไม่น่าจะเจออะไรแบบนี้)

สรุปหลักการชัดๆ อีกทีสำหรับการลดหย่อนภาษี นั่นคือ เราต้องมีที่อยู่อาศัย เอาไปกู้และจำนองที่อยู่อาศัยนี้ไว้กับผู้ให้กู้ตามกฎหมาย ถึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง

ทีนี้มาต่อว่าถ้าเราผ่านด่านแรกไปแล้ว ด่านที่สอง คือ เงื่อนไขในการใช้ลดหย่อนภาษี ซึ่งมีเงื่อนไขต่อไปนี้

  • ต้องใช้บ้าน อาคาร ห้องชุด อาคารชุด เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ใช้สิทธิ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่น ไปต่างประเทศ หรือเกิดภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถอยู่ได้
  • ใช้สิทธิได้สูงสุด 100,000 บาท ถ้าหากมีการกู้ร่วมหลายคน ให้หารตามจำนวนเงิน แต่สูงสุดไม่เกินคนละ 50,000 บาท

สำหรับเงื่อนไขแรกไม่น่าจะซับซ้อน ขอแค่เราใช้เป็นที่อยู่อาศัยก็พอใจแล้ว แต่สำหรับเงื่อนไขที่สองหลายคนอาจจะงง ลองมาดูตัวอย่างเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ละกันครับ

  • คน 1 คน สามารถใช้สิทธิได้สูงสุด 100,000 บาทต่อคน จะกู้เพื่อซื้อบ้านกี่หลังก็ได้ ตามสบายเลยครับ
  • ถ้ามีการกู้ร่วมกัน ดอกเบี้ยของบ้านหลังนั้นรวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาทก่อน แล้วค่อยมาหารตามจำนวนคน เช่น จ่ายดอกเบี้ยบ้านจริงไป 150,000 บาทและมีคนกู้ร่วมกัน 2 คน สิทธิ์หักลดหย่อนที่ใช้ได้คือ 100,000 บาท  แต่ละคนจึงใช้สิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้เพียงคนละ 50,000 บาทเท่านั้น (ถ้า 3 คนก็คนละ 33,333.33 บาท ถ้า 4 คนก็คนละ 25,000 บาท ถ้า 5 คนก็…พอแล้ว!!)
  • ย้ำหน่อยว่า… สิทธิของการกู้ร่วมตรงนี้ไม่สามารถโอนสิทธิให้ผู้อื่นได้นะครับ ต้องเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้เท่านั้น ดังนั้น ถ้าคนกู้ร่วมกับเราไม่มีเงินได้และไม่ได้ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ก็ไม่สามารถที่จะโอนสิทธินี้มาให้กับเราได้ เว้นแต่ในกรณีเดียวคือการกู้ร่วมของสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย กรณีที่ฝ่ายไหนไม่มีเงินได้สามารถใช้สิทธิโอนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้กับอีกฝ่ายได้ครับ

หากใครสนใจเรื่องรายละเอียดเงื่อนไขของค่าลดหย่อนตัวนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 165-167) ครับผม

หลังจากที่จัดสรรดอกเบี้ยเงินกู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงเรื่องสุดท้ายที่สำคัญว่า ต้องใช้เอกสารอะไรในการลดหย่อนภาษี? คำตอบคือ หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) ที่ทางผู้ให้กู้ออกให้ ในนั้นจะมีข้อความระบุไว้ชัดว่าเราจ่ายดอกเบี้ยประจำปีไปเท่าไร เพื่อให้เราสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องครับ โดยนำตัวเลขมากรอกเพื่อยื่นภาษีให้กับทางกรมสรรพากร ซึ่งเอกสารที่ได้มานี้เรามีหน้าที่เก็บไว้ และให้ดูเมื่อทางพี่ๆ สรรพากรเขาขอตรวจสอบครับ (ไม่ต้องถือไปให้ทันทีที่ยื่นภาษีนะครับ เดี๋ยวเขาตกใจ)

สรุปครั้งสุดท้ายให้ฟังชัดๆ อีกที ประเด็นสำคัญจะเห็นว่ามีอยู่ 3 เรื่อง นั่นคือ

1. รายละเอียดของการกู้ (บ้าน,ผู้ให้กู้) 

2. เงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อลดหย่อนภาษี 

3. เอกสาร 

ดังนั้น ถ้าหากเราเป็นคนที่สามารถใช้สิทธิเรื่องนี้ได้ อย่าลืมตรวจสอบเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้เรียบร้อยนะคะ จะได้กู้บ้านและลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้องและสบายใจจ้า

แถมพิเศษ แนวคิดในการเช่าหรือซื้อ

ทีนี้สำหรับคนที่กำลังลังเลใจว่า ระหว่างเช่าห้องอยู่กับซื้อคอนโดแบบไหนจะดีกว่า พรี่หนอมก็มีแนวทางมาให้พิจารณาโดยเปรียบเทียบในเรื่องสำคัญต่อไปนี้ครับ นั่นคือ กระแสเงินสดที่เรามี ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเช่ากับการซื้อ และเรื่องสิทธิประโยชน์อื่นอย่างการลดหย่อนภาษีค่ะ

สมมตินะครับว่า ถ้าเราอยากซื้อคอนโดราคาประมาณ 1.6 ล้านบาท ได้ห้องขนาด 30 ตารางเมตร โดยที่เราต้องผ่อนเดือนละ 9,000 บาท แต่ถ้าหากเช่าจะจ่ายเดือนละ 7,000 บาท ทีนี้ลองมาทำตารางเปรียบเทียบกันต่อนะคะ

อยากลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยบ้าน ปีละ 100,000 บาท ต้องทำยังไง?

จะเห็นว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซื้อคอนโดมักจะแพงกว่าครับ แต่ถ้าหากเรามีเงินก้อนที่ดาวน์คอนโดได้หรือมีการบริหารจัดการกระแสเงินสดได้ดีที่สามารถลดค่าผ่อนลงได้ต่ำกว่า 9,000 บาท เช่น จ่ายเงินดาวน์ไปอีก 200,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการผ่อนก็จะลดลงตามไปด้วยค่ะ

นอกจากนั้นยังมีประเด็นของการเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ (อาจ) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้อีกต่อหนึ่งด้วย (ถ้าสามารถประมาณการได้ก็จะนำมาคิดได้ง่ายขึ้นค่ะ เช่น ราคาคอนโดเพิ่มขึ้นปีละ 5%) หรือถ้ามองไกลกว่านั้น หากคอนโดเราอยู่ในทำเลที่ดี ในอนาคตเมื่อเรามีการขยับขยายที่อยู่ใหม่ ก็สามารถนำไปปล่อยเช่าสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเราในอนาคตได้อีกต่อหนึ่งค่ะ (แต่อย่าลืมคิดค่าซ่อมแซมบำรุงรักษาด้วยนะคะ)

ดังนั้น การซื้อคอนโดหรือเช่าอยู่นั้น จะต้องพิจารณาหลายองค์ประกอบกัน ทั้งเรื่องของ ความสะดวก ทำเลคอนโด แนวโน้มราคา รวมถึงภาระในการเป็นเจ้าของที่ต้องดูแล ร่วมกับภาระเรื่องเงินต่างๆ ไปจนถึงสิทธิประโยชน์ที่นำมาช่วยได้อย่างดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ที่สามารถลดหย่อนภาษี ซึ่งถ้าใครที่สามารถคิดได้ละเอียด ประเมินได้ใกล้กับความเป็นจริงย่อมจะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้นค่ะ